จุดมุ่งหมายการศึกษาอิงมาตรฐาน
❖
จุดมุ่งหมายของการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนต้องอยู่บนจุดมุ่งหมายพื้นฐานสองประการ
ประการแรก คือ การวัด และประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียน
โดยเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลการเรียนและการเรียนรู้ของผู้เรียนในระหว่างการเรียนการสอน
อย่างต่อเนื่อง บันทึก วิเคราะห์แปลความหมายข้อมูล
แล้วนำมาใช้ในการส่งเสริมหรือปรับปรุงแก้ไขการเรียนรู้ของผู้เรียน
และการสอนของครูการวัดและประเมินผลกับการสอนจึงเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กัน
หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดการเรียนการสอนก็ขาด ประสิทธิภาพ
การประเมินระหว่างการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้เช่นนี้เป็นการวัดและประเมินผลย่อย
(Formative
Assessment) ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนทุกวัน
เป็นการประเมินเพื่อให้รู้จุดเด่น จุดที่ต้องปรับปรุง
จึงเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนา ในการเก็บข้อมูล
ผู้สอนต้องใช้วิธีการและเครื่องมือการประเมินที่หลากหลาย เช่น การสังเกต การซักถาม
การระดมความคิดเห็นเพื่อ ให้ได้มติข้อสรุปของประเด็นที่กำหนด การใช้แฟ้มสะสมงาน
การใช้ภาระงานที่เน้นการปฏิบัติการประเมินความรู้เดิม การให้ผู้เรียน
ประเมินตนเอง การให้เพื่อนประเมินเพื่อน และการใช้เกณฑ์การให้คะแนน (Rubrics)
สิ่งสำคัญที่สุดในการประเมินเพื่อพัฒนา คือ
การให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียนในลักษณะคำแนะนำที่เชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่ทำให้การเรียนรู้พอกพูน
แก้ไขความคิด ความเข้าใจเดิมที่ไม่ถูกต้อง
ตลอดจนการให้ผู้เรียนสามารถตั้งเป้าหมายและพัฒนาตนได้
จุดมุ่งหมายประการที่สอง คือ การวัดและประเมินผลเพื่อตัดสินผลการเรียน
เป็นการประเมินสรุปผลการเรียนรู้ (Assumptive Assessment)
ซึ่งมีหลายระดับ ได้แก่ เมื่อเรียนจบหน่วยการเรียน
จบรายวิชาเพื่อตัดสินให้คะแนน หรือให้ระดับ ผลการเรียน
ให้การรับรองความรู้ความสามารถของผู้เรียนว่าผ่านรายวิชาหรือไม่ ควรได้รับการเลื่อนชั้นหรือไม่
หรือสามารถ จบหลักสูตรหรือไม่
ในการประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียนที่ดีต้องให้โอกาสผู้เรียนแสดงความรู้ความสามารถด้วยวิธีการ
ที่หลากหลายและพิจารณาตัดสินบนพื้นฐานของเกณฑ์ผลการปฏิบัติมากกว่าใช้เปรียบเทียบระหว่างผู้เรียน
❖ การกำกับดูแลคุณภาพการศึกษา
การจัดการศึกษาในปัจจุบันนอกจากให้ทั่วถึงแล้วยังมุ่งเน้นคุณภาพด้วย
ผู้ปกครอง สังคม และรัฐต้องการเห็นหลักฐาน อันเป็นผลมาจากการจัดการศึกษา นั่นคือ
คุณภาพของผู้เรียนที่เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตร
หน่วยงานที่รับผิดชอบนับตั้งแต่ สถานศึกษา ต้นสังกัด
หน่วยงานระดับชาติที่ได้รับมอบหมาย
จึงมีบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพผู้เรียนตามความคาดหวัง ของหลักสูตร ดังนั้น
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑
จึงกำหนดให้มีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ใน ๔ ระดับ ได้แก่ ระดับชั้นเรียน
ระดับสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา
และระดับชาติทุกระดับมีเจตนารมณ์เช่นเดียวกัน คือ
ตรวจสอบความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของผู้เรียน
เพื่อนำผลการประเมินมาใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
● การประเมินระดับชั้นเรียน
เป็นการวัดและประเมินผลที่อยู่ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ผู้สอนดำเนินการเพื่อพัฒนาผู้เรียนและตัดสิน
ผลการเรียนในรายวิชา/กิจกรรมที่ตนสอน ในการประเมินเพื่อพัฒนา
ผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ตามตัวชี้วัดที่กำหนดเป็นเป้าหมาย
ในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การซักถาม การสังเกต
การตรวจการบ้าน การแสดงออกในการปฏิบัติผลงาน การแสดงกิริยาอาการต่าง ๆ
ของผู้เรียนตลอดเวลาที่จัดกิจกรรม
เพื่อดูว่าบรรลุตัวชี้วัดหรือมีแนวโน้มว่าจะบรรลุตัวชี้วัดเพียงใด
แล้วแก้ไขข้อบกพร่องเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง
การประเมินเพื่อตัดสินเป็นการตรวจสอบ
ณ จุดที่กำหนด แล้วตัดสินว่าผู้เรียนมีผลอันเกิดจากการจัดกิจกรรม
การเรียนการสอนหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บคะแนนของหน่วยการเรียนรู้หรือของการประเมินผล กลางภาค
หรือปลายภาคตามรูปแบบการประเมินที่สถานศึกษากำหนด ผลการประเมินนอกจากจะให้เป็นคะแนนหรือระดับ
ผลการเรียนแก่ผู้เรียนแล้ว
ต้องนำมาเป็นข้อมูลใช้ปรับปรุงการเรียนการสอนต่อไปอีกด้วย
● การประเมินระดับสถานศึกษา
เป็นการตรวจสอบผลการเรียนของผู้เรียนเป็นรายปี/รายภาค
ผลการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
การอนุมัติผลการเรียน การตัดสินการเลื่อนชั้นเรียน
และเป็นการประเมินเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของสถานศึกษาว่าส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนตามเป้าหมายหรือไม่
ผู้เรียนมีสิ่งที่ต้อง ได้รับการพัฒนาในด้านใด รวมทั้งสามารถนำผลการเรียนของผู้เรียนในสถานศึกษาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ระดับชาติและระดับเขตพื้นที่
การศึกษา
ผลการประเมินระดับสถานศึกษาจะเป็นข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการปรับปรุงนโยบาย
หลักสูตร โครงการ หรือวิธีการ จัดการเรียนการสอน
ตลอดจนเพื่อการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาตามแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา
และการรายงานผลการจัดการศึกษาต่อคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน
ผู้ปกครองและชุมชน
● การประเมินระดับเขตพื้นที่การศึกษา
เป็นการประเมินคุณภาพผู้เรียนในระดับเขตพื้นที่การศึกษาตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลาง
การศึกษาขั้นพื้นฐาน
เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษา
ตามภาระความรับผิดชอบ
สามารถดำเนินการโดยประเมินคุณภาพของผู้เรียนด้วยวิธีการและเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานซึ่งจัดทำและดำเนินการโดยเขตพื้นที่
การศึกษา หรือด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดและ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังสามารถดำเนินการได้ด้วย
การตรวจสอบข้อมูลจากการประเมินระดับสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา
● การประเมินระดับชาติ
เป็นการประเมินคุณภาพผู้เรียนในระดับชาติตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนทุกคนที่เรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
เข้ารับการประเมิน ผลจากการประเมินใช้เป็นข้อมูลในการเทียบเคียงคุณภาพการศึกษาในระดับต่าง
ๆ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผน ยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา
ตลอดจนเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจในระดับนโยบายของประเทศ
ข้อมูลการประเมินในระดับต่าง ๆ ข้างต้น เป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษาในการตรวจสอบ
ทบทวน พัฒนาคุณภาพ ผู้เรียน
ถือเป็นภาระความรับผิดชอบของสถานศึกษาที่จะต้องจัดระบบดูแลช่วยเหลือ
ปรับปรุงแก้ไข ส่งเสริมสนับสนุน เพื่อให้ผู้เรียน
ได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพบนพื้นฐานความแตกต่างระหว่างบุคคลที่จำแนกตามสภาพปัญหาและความต้องการ
ได้แก่ กลุ่มผู้เรียน ทั่วไป กลุ่มผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษ
กลุ่มผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ
กลุ่มผู้เรียนที่มีปัญหาด้านวินัยและพฤติกรรม กลุ่มผู้เรียนที่ปฏิเสธโรงเรียน
กลุ่มผู้เรียนที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม
กลุ่มผู้เรียนที่พิการทางร่างกายและสติปัญญา เป็นต้น
ข้อมูลจากการประเมินจึงเป็นหัวใจของสถานศึกษาในการดำเนินการช่วยเหลือผู้เรียนได้ทันท่วงทีอันเป็นโอกาสให้ผู้เรียนได้รับ
การพัฒนาและประสบความสำเร็จในการเรียน
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น