แบบการเรียนรู้
การจำแนกประเภทของรูปแบบการเรียนรู้ (The
categorization of learning style)
ได้มีการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนรู้
ไม่ต่ำกว่า 21 แนวคิด (Moran, 1991) ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงเพียง 4 แนวคิดซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป
1. รูปแบบการเรียนรู้ตามแนวคิดของโคล์บ (Kolb's
Learning Style Model, 1976)
แนวคิดนี้ได้จำแนกผู้เรียนออกเป็น 4
ประเภท ตามความชอบในการรับรู้ และประมวลข่าวสารข้อมูล ดังนี้
1.1 นักคิดหลายหลากมุมมอง
(diverger) เป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ดีในงานที่ใช้การจินตนาการ
การหยั่งรู้ การมองหลากหลายแง่มุม สามารถสร้างความคิดในแง่มุมต่างๆกัน และรวบรวมข่าวสารข้อมูลจากแหล่งต่างๆหรือที่ต่างแง่มุมเข้าด้วยกันได้ดี
และมีความเข้าใจผู้อื่น แต่มีจุดอ่อนที่ตัดสินใจยาก ไม่ค่อยใช้หลักทฤษฎี
และระบบทางวิทยาศาสตร์ในการคิด และตัดสินใจ มีความสามารถในการประยุกต์น้อย
1.2 นักคิดสรุปรวม
(converger) เป็นผู้ที่มีความสามารถในการใช้เหตุผลแบบสรุปเลือกคำตอบที่ดีที่สุดเพียงหนึ่งคำตอบ
มีความสามารถในการแก้ปัญหา และการตัดสินใจ ไม่ใช้อารมณ์
ประยุกต์แนวความคิดไปสู่การปฏิบัติได้ดี และมีความสามารถในการสร้างแนวคิดใหม่
และทำในเชิงการทดลอง แต่มีจุดอ่อนที่มีขอบเขตความสนใจแคบ และขาดการจินตนาการ
1.3 นักซึมซับ
(assimilator) เป็นนักจัดระบบข่าวสารข้อมูล
มีความสามารถในการใช้หลักเหตุผล วิเคราะห์ข่าวสารข้อมูล
ชอบทำงานที่มีลักษณะเป็นนามธรรม และเชิงปริมาณ งานที่มีลักษณะเป็นระบบ
และเชิงวิทยาศาสตร์ และการออกแบบการทดลอง มีการวางแผนอย่างมีระบบ มีจุดอ่อนที่
ไม่ค่อยสนใจที่จะเกี่ยวข้องกับผู้คน และความรู้สึกของผู้อื่น
1.4 นักปรับตัว
(accomodator) เป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุดโดยผ่านประสบการณ์จริง
มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆได้ดี มีการหยั่งรู้ (intuition) ชอบแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ ชอบงานศิลปะ ชอบงานที่เกี่ยวข้องกับผู้คน
มีความสามารถในการปฏิบัติงานให้บรรลุผลตามแผน ชอบการเสี่ยง
ใช้ข้อเท็จจริงตามสภาพการณ์ปัจจุบัน จุดอ่อนของผู้ที่มีรูปแบบการเรียนแบบนี้คือ
วางใจในข้อมูลจากผู้อื่น ไม่ใช้ความสามารถในเชิงวิเคราะห์ของตนเอง ไม่ค่อยมีระบบ
และชอบแก้ปัญหาโดยวิธีการลองผิดลองถูก
2. รูปแบบการเรียนรู้ตามแนวคิดของ
Myers-Briggs (Myers, 1978)
แนวคิดนี้แบ่งผู้เรียนตามความชอบของการเรียนรู้โดยมีพื้นฐานความคิดมาจากทฤษฎีบุคลิกภาพของคาร์ล
ยุง (Carl
Jung) โดยแบ่งผู้เรียนออกเป็นประเภทดังนี้ (Felder, 1996 ;
Griggs, 1991)
2.1 ผู้สนใจสิ่งนอกตัว
และผู้สนใจสิ่งในตัว ( extroversion / introversion)
ผู้สนใจสิ่งนอกตัว (extroversion)
หมายถึงผู้เรียนที่มุ่งเน้นข่าวสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโลกภายนอกของตน
และชอบการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม และมีการปฏิสัมพันธ์กัน
ผู้สนใจสิ่งในตัว (introversion)
หรือผู้เรียนที่มุ่งเน้นความคิดเกี่ยวกับโลกภายใน ของตน
และชอบงานรายบุคคลที่เน้นการใช้การคิดแบบไตร่ตรอง
2.2 การสัมผัส
และ การหยั่งรู้ (Sensing / intuition) เป็นการจำแนกผู้เรียนตามวิธีการให้ได้มาซึ่งความรู้
การสัมผัส (sensing)
หมายถึงผู้เรียนที่มุ่งเน้นความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริง กฎ
และกระบวนการ โดยผ่านการปฏิบัติด้วยประสาทสัมผัส 5
การหยั่งรู้ (intuition)
ผู้เรียนที่มุ่งเน้นความรู้ที่มีลักษณะของความเป็นไปได้ใหม่ๆ
ปัญหาที่ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน
และอาศัยการจินตนาการในการให้ได้มาซึ่งความรู้เหล่านี้
2.3 การคิด
และการรู้สึก (thinking / feeling) เป็นการจำแนกผู้เรียนตามลักษณะของกระบวนหาทางเลือกในการตัดสินใจ
การคิด (thinking) หมายถึงผู้เรียนที่รับข้อมูลแล้วคิดตัดสินใจบนฐานของการใช้กฏเกณฑ์
และหลักเหตุผล สามารถทำงานได้ดีในงานที่เกี่ยวข้องกับการตัดสิน และแก้ปัญหาที่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียว
การรู้สึก (feeling)
เป็นผู้ที่ตัดสินใจบนฐานของความความรู้สึก ค่านิยมส่วนตัว
ค่านิยมของกลุ่ม และสนใจในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้คน
เป็นผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารระหว่างบุคคล
และมักประสบความสำเร็จในการทำงานเป็นทีม
2.4 การตัดสิน
และ การรับรู้ (judging VS perception) เป็นการจำแนกผู้เรียนตามกระบวนการประมวลข่าวสารข้อมูล
การตัดสิน (judging)
หมายถึง ผู้เรียนที่เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลใดๆแล้ว
มักจะประมวลข่าวสารด้วยการตัดสิน และสรุปลงความเห็นเกี่ยวกับข้อมูลนั้นๆ
การรับรู้ (perception)
หมายถึงผู้เรียนที่มีแนวโน้มที่จะพยายามรวบรวมข้อมูลให้มากกว่าที่มีอยู่
และมักจะยืดเวลาการตัดสินใจออกไปเรื่อยๆ
3. รูปแบบการเรียนรู้ตามแนวคิดของ
Dunn และ Dunn และ Price (1991)
Dunn และคณะ ( Dunn et
al.,1995) ได้เสนอแนวคิดรูปแบบการเรียนรู้ว่า
ตัวแปรที่มีผลทำให้ความสามารถในการรับรู้ และการตอบสนอง
ในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลแตกต่างกันนั้น
มีทั้งตัวแปรที่เป็นสภาพแวดล้อมภายนอกของบุคคล และสภาพภายในตัวบุคคล ซึ่งมี 5
ด้าน ได้แก่
3.1 ตัวแปรสภาพแวดล้อมภายนอก
(environmental variable) แต่ละบุคคลมีความชอบ
และสามารถเรียนรู้ได้ดีในสภาพแวดล้อมทางการเรียนที่แตกต่างกัน ดังนี้
ระดับเสียง
บางคนเรียนรู้ได้ดีในที่เงียบๆ
แต่บางคนเรียนรู้ได้ดีในที่ที่มีเสียงอื่นประกอบบ้าง เช่น เสียงดนตรี
หรือเสียงสนทนา
แสง
บางคนเรียนรู้ได้ดีในที่มีแสงสว่างมากๆ แต่บางคนเรียนรู้ได้ดีในที่มีแสงสลัว
อุณหภูมิ บางคนเรียนชอบ
และเรียนรู้ได้ดีกว่าในสภาพแวดล้อมที่มี อุณหภูมิอุ่น
ในขณะที่บางคนชอบเรียนในที่มีอากาศค่อนข้างเย็น
ที่นั่ง
บางคนเรียนรู้ได้ดีในสถานที่มีการจัดที่นั่งไว้อย่างเป็นระเบียบ
แต่บางคนชอบเรียนในที่จัดที่นั่งตามสบาย
3.2 สภาพทางอารมณ์
(emotional variable) เป็นคุณลักษณะของบุคคลที่มีมากน้อย
ต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ ได้แก่
* แรงจูงใจในการเรียนให้สำเร็จ
* ความเพียร/ความมุ่งมั่นทำงานที่ได้รับมอบหมายในการเรียนให้เสร็จ
* ความรับผิดชอบในตนเองเกี่ยวกับการเรียน
* ความต้องการการบังคับจากสิ่งภายนอกหรือมีการกำหนดทิศทางที่แน่นอน เช่น เวลาที่ผู้สอนกำหนดให้ส่งงาน การหักคะแนนถ้าส่งงานล่าช้า หรือ การทำสัญญา เป็นต้น
* ความเพียร/ความมุ่งมั่นทำงานที่ได้รับมอบหมายในการเรียนให้เสร็จ
* ความรับผิดชอบในตนเองเกี่ยวกับการเรียน
* ความต้องการการบังคับจากสิ่งภายนอกหรือมีการกำหนดทิศทางที่แน่นอน เช่น เวลาที่ผู้สอนกำหนดให้ส่งงาน การหักคะแนนถ้าส่งงานล่าช้า หรือ การทำสัญญา เป็นต้น
3.3 ความต้องการทางสังคม
(sociological variable) แต่ละบุคคลมีความต้องการทางสังคมในสภาพของการเรียนรู้แตกต่างกันได้แก่
ขนาดกลุ่มเรียน บางคนชอบเรียนคนเดียว
จับคู่กับเพื่อน เรียนเป็นกลุ่มเล็ก หรือเรียนกลุ่มใหญ่
ลักษณะผู้ร่วมงาน
บางคนชอบทำงานร่วมกับผู้ที่มีลักษณะมีอำนาจ
ในขณะที่บางคนชอบทำงานร่วมกับผู้ที่มีลักษณะเป็นเพื่อนร่วมคิด ร่วมทำ
ลักษณะกลุ่มเรียน บางคนชอบเรียนรู้จากกลุ่มที่แตกต่างหลายๆกลุ่ม
และมีกิจกรรมที่หลากหลาย แต่บางคนชอบเรียนกับกลุ่มประจำ
และมีลีกษณะกิจกรรมที่แน่นอน
3.4 ความต้องการทางกายภาพ
(physical variable) ได้แก่
ช่องทางการรับรู้ แต่ละบุคคลชอบ
และสามารถเรียนรู้ได้ดีโดยผ่านประสาทสัมผัสต่างช่องทางกัน เช่น
ผ่านทางการได้ยิน/ฟัง การเห็น การสัมผัส และการเคลื่อนไหว(kinesthetic)
ช่วงเวลาของวัน
บางคนเรียนรู้ได้ดีในช่วงเช้าหรือสาย แต่บางคนเรียนรู้ได้ดีในช่วงบ่ายหรือเย็น
การกินระหว่างเรียนหรืออ่านหนังสือ
บางคนเรียนรู้ได้ดีเมื่อมีการกิน การเคี้ยว ระหว่างที่มีสมาธิ
แต่บางคนจะเรียนรู้ได้ดีต้องหยุดกิจกรรมการกินทุกชนิด
3.5 กระบวนการทางจิตวิทยา
(psychological processing) บุคคลมีความแตกต่างกันกระบวนการที่ใช้ในการประมวลข่าวสารข้อมูล
ได้แก่
การคิดเชิงวิเคราะห์หรือแบบภาพรวม(analytic/global)
บางคนเมื่อรับรู้ข่าวสารข้อมูลแล้ว
มักจะใช้กระบวนการวิเคราะห์ในการแยกแยะ เพื่อทำความเข้าใจ
ในขณะที่บางคนใช้กระบวนการคิดแบบภาพรวม
ความเด่นของซีกสมอง (hemisphericity)
บุคคลมีแนวโน้มที่จะใช้สมองซีกใดซีกหนึ่ง
ในการประมวลข่าวสารมากกว่าอีกซีกหนึ่ง
โดยบางคนมีแนวโน้มที่จะใช้สมองซีกซ้ายมากว่าซีกขวา
ในขณะที่บางคนมีแนวโน้มที่จะใช้สมองซีกขวามากว่าซีกซ้าย
การคิดแบบหุนหันหรือแบบไตร่ตรอง (impulsivity/reflectivity)
บางคนมีการตัดสินใจอย่างรวดเร็วหลังจากได้ข้อมูลเพียงย่อๆ
แต่บางคนจะมีการใคร่ครวญ พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจ
4. รูปแบบการเรียนรู้ตามแนวคิดของ
กราชา และริเอชแมนน์ (Grasha & Riechmann, 1974 )
กราชา และริเอชแมนน์ (Grasha
& Riechmann, 1974) ได้เสนอรูปแบบของการเรียนรู้ในลักษณะของความชอบ
และทัศนคติของบุคคล ในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอน และเพื่อนในการเรียนทางวิชาการ
เป็น 6 แบบ ดังนี้
4.1 แบบมีส่วนร่วม
(participant) เป็นผู้เรียนที่สนใจอยากจะรู้เกี่ยวกับเนื้อหาของรายวิชาที่เรียน
อยากเรียน สนุกกับการเรียนในชั้นเรียน และคล้อยตาม
และติดตามทิศทางของการเรียนการสอน
4.2 แบบหลีกหนี
(Avoidant) เป็นผู้เรียนที่ไม่มีความต้องการที่จะรู้เกี่ยวเนื้อหารายวิชาที่เรียน
ไม่ชอบเข้าชั้นเรียน ไม่สนใจที่จะเรียนรู้ รู้สึกต่อต้านทิศทางของการเรียนการสอน
4.3 แบบร่วมมือ
(Collaborative) เป็นผู้เรียนที่ชอบกิจกรรมการเรียนที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม
และการร่วมมือกัน ชอบการมีปฏิสัมพันธ์กัน รู้สึกสนุกในการทำงานกลุ่ม
4.4 แบบแข่งขัน
(Competitive) เป็นผู้เรียนที่มีลักษณะของการแข่งขัน
และยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง สนใจแต่ตนเอง
และมีแรงจูงใจในการเรียนจากการได้ชนะผู้อื่น สนุกกับเกม/กีฬาการต่อสู้
ชอบกิจกรรมที่มีการแพ้-ชนะ สนุกในเกมที่เล่นเป็นกลุ่ม
4.5 แบบอิสระ(Independent)
เป็นผู้ที่ทำงานด้วยตนเอง สามารถทำงานให้เสร็จสมบูรณ์
ไวต่อการตอบสนอง/โต้ตอบได้รวดเร็ว และมีความคิดอิสระ เป็นตัวของตัวเอง
4.6 แบบพึ่งพา
(Dependent) เป็นผู้ที่ต้องอาศัยครูให้คำแนะนำ
ต้องการการช่วยเหลือ และแรงจูงใจภายนอก (เช่น คำชม รางวัล) ในการจูงใจให้การเรียน
ไม่ค่อยไวในการตอบสนอง/โต้ตอบ มีความกระตือรือร้นในการเรียนไม่มาก
และมักจะทำตามความคิดของผู้นำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น